ประวัติความเป็นมา

  1. การจัดตั้งกรมส่งเสริมการเกษตร
    • การจัดตั้งกรมส่งเสริมการเกษตร มีแนวคิดและการดำเนินงานเพื่อให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบการส่งเสริมและเผยแพร่ทางการเกษตร ทั้งพืช ปศุสัตว์ และประมง ไปสู่เกษตรกร ไว้ที่หน่วยงานเดียว ซึ่งเป็นการรวมงานส่งเสริมการเกษตรของสำนักงานปลัดกระทรวงกรมกสิกรรม และกรมการข้าวเข้าด้วยกันเพื่อให้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการอำนวยการบริการและเผยแพร่วิชาการ หรือความรู้เกี่ยวกับการเกษตรแผนใหม่ให้ถึงตัวเกษตรกรโดยทั่วถึงและแพร่หลายมีประวัติของการจัดตั้งกรมส่งเสริมการเกษตร โดยลำดับ ดังนี้
      • วันที่ 1 กรกฎาคม 2498 ที่ประชุมอธิบดีกรมต่างๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรได้มีการปรึกษาหารือถึงเรื่องการปรับปรุงงานส่งเสริมการเกษตรให้เป็นรูปแบบประสม แทนการส่งเสริมแต่ละพืชหรือสัตว์แต่ละอย่าง โดยจะเริ่มด้วยการจัดตั้งกองขึ้นในสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและจะขอตั้งเป็นกรมต่อไป
      • วันที่ 11 มกราคม 2504 คณะรัฐมนตรีลงมติให้กระทรวงเกษตรพิจารณาตั้งกรม หรือสำนักงานส่งเสริมการเกษตรขึ้นเป็นหน่วยงานส่วนกลางในกระทรวงเกษตร
      • วันที่ 1 กรกฎาคม 2509 ให้เรียกชื่อกรมแพร่ขยายการเกษตร โดยโอนงานส่งเสริมการเกษตรจากทุกกรมในสังกัดกระทรวงเกษตรมาร่วมอยู่ในกรมนี้ ส่วนเจ้าหน้าที่ให้เรียกพนักงานแพร่ขยายจังหวัดและอำเภอ เมื่อผ่านการพิจารณาของคณะที่ปรึกษาระเบียบบริหารแล้ว ได้นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีแต่ข้อความในหนังสือชื่อกรมได้เปลี่ยนไปจาก กรมแพร่ขยายการเกษตร เป็น กรมบริการเกษตร ส่วนเจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาคให้ยุบกสิกรรมจังหวัด – อำเภอเป็น เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบด้วยในหลักการ
      • วันที่ 14 กันยายน 2510 พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 เพื่อขอตั้งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ผ่านมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จากสภาร่างรัฐธรรมนูญ และได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายให้ตั้ง “กรมส่งเสริมการเกษตร” ได้เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2510 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ หน้า 1 เล่ม 84 ตอนที่ 101 วันที่ 20ตุลาคม 2510 โดยมีเหตุผลในการจัดตั้ง คือ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชากรของประเทศมีอาชีพในการเกษตรประมาณร้อยละ 80และสินค้าการเกษตรเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ นำรายได้เข้าประเทศประมาณร้อยละ 90 ของสินค้าส่งออกทั้งหมด ซึ่งอาจถือได้ว่าการเศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศ ขึ้นอยู่กับอาชีพการเกษตรเป็นสำคัญ และมี ศาสตราจารย์พิเศษทำนอง สิงคาลวณิช ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรคนแรก ตั้งแต่ปี 2511-2518 เป็นเวลา 8 ปี
    • วัตถุประสงค์การก่อตั้ง
      • กรมส่งเสริมการเกษตรมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับอำนวยบริการและเผยแพร่วิชาการ หรือความรู้เกี่ยวกับการเกษตรแผนใหม่ให้ถึงตัวเกษตรกรโดยแพร่หลายและทั่วถึง เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตในด้านการเกษตรมีปริมาณและคุณภาพตามต้องการของตลาด และเพื่อให้มีตลาดสำหรับจำหน่ายผลิตผล อันจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้และฐานะดีขึ้น เป็นการช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจส่วนรวมให้มั่นคงยิ่งขึ้น วัตถุประสงค์การก่อตั้งกรมส่งเสริมการเกษตร มุ่งจัดรูปบริการทางวิชาการเกษตรให้อยู่ในสถาบันเดียวกัน เพื่อสะดวกในการจัดบริการแก่เกษตรกร โดยจัดให้มีการปลูกพืชอาหารให้พลเมืองและส่งเป็นสินค้าออกรวมทั้งเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมในประเทศ และกระทำในลักษณะให้เกษตรกรรวมกันเป็นกลุ่ม มีการประสานงานกับสถาบันของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง แนวทางการส่งเสริมกระทำโดยพิจารณาความต้องการของตลาดทั้งภายในและภายนอกเป็นหลักในการส่งเสริม มีการกำหนดระบบการปลูกให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และทรัพยากร เพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงสุด สนับสนุนการรวมกลุ่มการสร้างเกษตรกรชั้นนำในท้องถิ่นเพื่อมุ่งให้เกิดการช่วยตนเอง รวมทั้งยุเกษตรกรกำหนดแผนการปลูกพืชหลายครั้งในพื้นที่ที่มีอยู่แทนที่จะเพิ่มผลผลิต เพื่อแก้ปัญหาการทำงานไม่เต็มที่ของเกษตรกร
    • ภารกิจระยะเริ่มแรก
      • เสนอแนวคิดในการประกอบอาชีพแก่ประชากรเป้าหมายให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ชีววิทยา เทคโนโลยีการผลิต เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมืองถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตรโดยเป็นตัวกลางในการนำวิทยาการจากสถาบันวิจัยหรือแหล่งความรู้ต่างๆ มาปรับปรุงพัฒนาเผยแพร่แก่ประชากรเป้าหมาย ในขณะเดียวกันก็รับปัญหาต่างๆ ในพื้นที่มาพิจารณาแก้ไขหรือถ่ายทอดกลับไปสู่สถาบันวิจัยส่งเสริมให้มีการผลิตทางการเกษตรให้เพียงพอแก่การบริโภคภายในประเทศ เพียงพอแก่การใช้ในอุตสาหกรรมและเพื่อส่งออกโดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและลดต้นทุนการผลิตให้การบริการและสนับสนุนปัจจัยการผลิตบางประเภทและบางโอกาสแก่เกษตรกร เช่น กรณีประสบภัยธรรมชาติศัตรูพืชระบาดรุนแรง และกรณีอื่นๆ ที่เกษตรกรไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เพื่อให้การผลิตของเกษตรกรและของประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่องส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมตัวเป็นสถาบันเกษตรกรหรือกลุ่มกิจกรรมเฉพาะเรื่อง เพื่อให้มีส่วนร่วมในการพิจารณาการใช้เทคโนโลยีการผลิต ชนิด ปริมาณ และคุณภาพของผลผลิต รวมทั้งเพื่อเป็นฐานในการจำหน่าย และกระจายรายได้อย่างยุติธรรม โดยการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 140 และฉบับที่ 141 การจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร และกลุ่มยุวเกษตรกรประสานงานกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการเผยแพร่ความรู้ทางการผลิตพืช ปศุสัตว์ ประมง และป่าไม้ ในระดับพื้นที่ปฏิบัติการ รวมทั้งประสานกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาการเกษตรในทุกๆ ด้านเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรและประเทศ
    • การแบ่งส่วนราชการ
      • ราชการบริหารส่วนกลาง มี 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานเลขานุการกรม กองคลัง กองประสานงานวิชาการเกษตร กองอบรมและเผยแพร่ ราชการบริหารส่วนภูมิภาคมี 2 หน่วยงาน คือที่ทำการเกษตรจังหวัด และที่ทำการเกษตรอำเภอ โดยมีอัตรากำลังข้าราชการในระยะเริ่มตั้งกรมฯ จำนวน 1,726 คน

2. ประวัติอำเภอด่านซ้าย

  • อำเภอด่านซ้ายเป็นอำเภอเก่าแก่ ก่อตั้งก่อนที่กรุงสุโขทัยจะเป็นราชธานี มีประวัติความเป็นมาอยู่ 2 ประการ คือ
    1. ด่านซ้ายตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของเมืองบางยาง( เชื่อว่าตั้งอยู่ในอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลกในปัจจุบัน) ซึ่งพ่อขุนบางกลางท้าว เจ้าเมืองบางยาง ตั้งขึ้นเป็นเมืองหน้าด่าน และเรียกว่า “เมืองด่านซ้าย
    2. มาจากคำว่า “ด่านช้าง” ซึ่งในสมัยโบราณพื้นที่บริเวณนี้มีช้างป่าชุกชุม เที่ยวหากินไปมา และหากินดินโป่ง อยู่ระหว่างป่าภูหลวง ป่าโป่งลิงต้น ป่าเขตเมืองลานช้าง แขวงเมืองไชยบุรี ประเทศลาว คนในสมัยนั้นจึงเรียกว่า “ด่านช้าง” ต่อมาเพี้ยนเป็น “ด่านซ้าย”
  • ที่ตั้ง
    • สันนิษฐานตามประวัติศาสตร์ว่า พ่อขุนบางกลางท้าวเจ้าเมืองบางยาง ได้ตั้งเมืองหน้าด่านเพื่อประชิดเขตแดนขอม แต่เดิมนั้น ด่านซ้ายตั้งอยู่ในเขตปกครองของมณฑลพิษณุโลก จนกระทั่งเปลี่ยนมาเป็นอำเภอ ต่อมาได้มาอยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดเลย ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 4 มกราคม 2450 จนถึงปัจจุบัน
แผนที่อำเภอด่านซ้าย
  • ที่ตั้งและอาณาเขต

               ทิศเหนือ           ติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีลำน้ำเหือง เป็นเส้นกั้น
                                        อาณาเขตพรมแดนและติดต่อกับตำบลลาดค่าง อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย

               ทิศใต้               ติดต่อกับตำบลวังบาล ตำบลบ้านเนิน อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์

               ทิศตะวันออก   ติดต่อกับตำบลลาดค่าง ตำบลร่องจิก อำเภอภูเรือ ตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง
                                        ตำบลเลยวังไสย์ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย

               ทิศตะวันตก     ติดต่อกับตำบลเนินเพิ่ม อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ตำบลเล็กน้อย
                                       อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ตำบลนาแห้ว ตำบลนาพึง และตำบลนามาลา
                                       อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย

  • ลักษณะภูมิประเทศ
    • พื้นที่ประกอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อน มีที่ระหว่างหุบเขาบางแห่งเป็นที่ราบสูง ลุ่มๆ ดอนๆ โดยเฉพาะที่ตั้งอำเภอมีภูเขาขนาบอยู่ทั้งสามด้าน คือด้านทิศใต้ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก และมีที่ราบแคบ ๆ ยาวไปทางทิศเหนือ ซึ่งมีเทือกเขาอยู่ทั้งสองข้าง พื้นที่ทางทิศตะวันออก ทิศใต้และทิศตะวันตก มีภูเขาสูงมาก ภูเขาส่วนมากเป็นภูเขาดินและภูเขาทราย เฉลี่ยมีพื้นที่ราบประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ทั้งหมด ระหว่างหุบเขามีที่ราบสำหรับทำนา ส่วนตามเชิงเขาเป็นที่ราบและที่ลาดเหมาะสำหรับทำไร่ ปลูกพืชต่างๆ เช่นข้าวโพด ถั่วลิสง ถั่วแดง ฝ้าย ฯลฯ และปลูกพืชยินต้น เช่นมะม่วง ลำไย มะขาม เป็นต้น พื้นดินเป็นดินร่วนและดินปนทราย ตามภูเขามีป่าเบญจพรรณอยู่ทั่วไป
  • ลักษณะภูมิอากาศ ในเขตอำเภอด่านซ้ายแบ่งออกได้ 3 ฤดู คือ
    1. ฤดูฝน ฝนตกชุกระหว่างเดือนมิถุนายน  ถึงเดือนตุลาคม
    2. ฤดูหนาว อากาศหนาวจัดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึง กุมภาพันธ์ บางปีอากาศหนาวจัด อุณหภูมิลดลงถึง 0 องศา
    3. ฤดูร้อน อากาศร้อนจัดตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึงเดือนพฤษภาคม
  • ประเพณี, การละเล่น
    • อำเภอด่านซ้าย ประชาชนส่วนใหญ่ยังยึดมั่นในฮีตสิบสองคลองสิบสี่ และประเพณีอื่นๆ คล้ายประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั่วไป นอกนี้มีประเพณีที่ปฏิบัติกันมาช้านานและปฏิบัติกันทุกปี ได้แก่ งานสมโภชและงานนมัสการพระธาตุศรีสิงรัก ซึ่งจัดในวันเพ็ญเดือนหกของทุกปีและงานบุญหลวง ซึ่งนำเอาบุญพระเวสสันดรและบุญบั้งไปมาจัดรวมกัน นิยมจัดในเดือนแปดข้างขึ้น ในงานจะมีการละเล่นชนิดหนึ่ง โดยมีการใส่หน้ากากที่หน้าตาน่าเกลียด น่ากลัวและสวมชุดที่รุ่มร่ามประกอบการละเล่นอย่างสนุกสนาน เรียกว่า ผีตาโขน ซึ่งเป็นงานที่จัดอย่างใหญ่โต ทั้งเป็นงานแปลกและเป็นงานที่น่าสนใจของประชาชนทั่วไป และที่บ้านตูบค้อ ตำบลกกสะทอน เป็นหมู่บ้านของชาวไทยถูเขาเผ่าม้ง ซึ่งเป็นชาวเขาเพียงหมู่บ้านเดียวในจังหวัดเลย ชาวเขาบ้านตูบค้อ จะมีประเพณีและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง นับถือผี และมีประเพณีที่สำคัญ คือประเพณีปีใหม่ ซึ่งจะมีการละเล่นสะบ้ากัน
  • ประเพณีการละเล่นที่สำคัญ
    1. พิธีสมโภชและงานนมัสการพระธาตุศรีสองรักจัดช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี
    2. ประเพณีการละเล่นผีตาโขน (บุญหลวง) จัดช่วงเดือนมิถุนายน ถึงเดือนกรกฎาคมของทุกปี
    3. งานประเพณีปีใหม่ชาวเขา บ้านตูบค้อ ตำบลกกสะทอนจัดขึ้นช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี
  • ศาสนา
    • จำนวนวัด 95 หมู่บ้าน ประชาชนนับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 99 ประชาชนนับถือศาสนาอื่น ๆ ร้อยละ 1
  • โบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญ
    1. พระธาตุศรีสองรัก   ตั้งอยู่ตำบลด่านซ้าย
    2. วัดโพนชัย    ตั้งอยู่ตำบลด่านซ้าย
    3. เจดีย์ศรีภูมิ     ตั้งอยู่ตำบลนาหอ